วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พิธีแรกนาขวัญ


พิธีแรกนาขวัญ หรือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จรดพระนังคัลแปลว่า จดไถ (นังคัลแปลว่าไถ) เป็นพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินทำพิธีไถนาเอง ส่วนพระมเหสีเลี้ยงไหม เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ในประเทศอินเดียพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยเจ้าชายสิทธัตถะกุมารตามเสด็จไปด้วย
สมัยสุโขทัย : ได้มีพระราชพิธีแรกนาขวัญในวันอาทิตย์เดือนหก พระเจ้าแผ่นดินทรงม้าเสด็จเป็นขบวนพร้อมด้วยขบวนอัครชายา พระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อถึงบริเวณประกอบพิธีก็เสด็จประทับยังโรงพิธี ซึ่งพวกพราหมณ์อัญเชิญเทวรูปมาประดิษฐานรอไว้ก่อนแล้ว จากนั้นจึงโปรดให้ออกพญาพลเทพธิบดี เป็นผู้ประกอบพิธีแทนพระองค์ ท่านออกพญาผู้นั้นแต่งกายอย่างลูกหลวงเดินเข้าสู่โรงพิธี เสร็จเรื่องในโรงพิธีแล้วพวกพราหมณ์ก็เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้าไปยังที่จะทำการไถ ชาวพระโคจะนำพระโคอศุภราช (โคผู้) เข้าเทียมไถทอง แล้วพราหมณ์ก็จะมอบไถและปฏักทองให้แก่ออกพญา พร้อมกันนั้นพระศรีมโหสถ (บิดานางนพมาศ) แต่งกายแบบพราหมณ์ จะเข้าไปไถด้วยไถเงินเทียมด้วยพระโคเสวตรพระพรไถตามเป็นไถรอง ไถที่ 3 เป็นไถหุ้มผ้าแดงเทียมด้วยพระโคกระวิน (โคสีแดง) พระวัฒนเศรษฐีแต่งกายอย่างพลเรือนเป็นผู้ไถ ทั้งสามไถเวียนซ้ายไปขวาตามกันเป็นลำดับ ข้างหน้าสุดจะมีพราหมณ์โปรยข้าวตอกดอกไม้ เป่าสังข์และแกว่งบัณเฑาะว์นำ เบื้องหลังมีขุนบริบูรณ์ธัญญากับพนักงานนาหลวงนุ่งเพลาะคาดรัดประคดสวมหมวกสาน ถือกระเช้าโปรยหว่านเมล็ดพืชตามมา ขณะนั้นรอบ ๆ บริเวณประกอบพระราชพิธี จะมีการละเล่นต่าง ๆ เซ็งแซ่ด้วยเสียงพิณพาทย์และเภรี ครบ 3 รอบแล้ว ก็หยุด ปลดพระโคทั้งสามออกมาให้กินของที่วางไว้เป็นการเสี่ยงทาย รวม 5 อย่าง ถ้าพวกพระโคกินอะไร พราหมณ์จะทำนายไปตามตำราว่าปีนั้นพืชผลอะไรจะดี อะไรไม่เพียงใด ในเวลาเดียวกันพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งสนมให้เชิญเครื่องมธุปยาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว ส่วนพวกราชมัลจะยกเอาอาหารอีกส่วนหนึ่งออกเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง
สมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชพิธีแรกนาขวัญได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระจันทรกุมารแรกนาแทนพระองค์ ส่วนพระมเหสีก็จะทรงจัดนางเทพีขึ้นต่างพระองค์เช่นกัน ผู้แรกนาขวัญจะขี่เสลี่ยงเงินมีขบวนแห่ไปยังโรงพิธี ครั้นถึงเวลามงคลฤกษ์พระจันทรกุมารจะเข้าถือคันไถ ซึ่งเทียมด้วยโคอศุภราช ออกพญาพลเทพจะเข้าจูงโคอยู่ข้างหน้า ส่วนนางเทพีจะหว่านพันธุ์ข้าวตามมาข้างหลัง ครบ 3 รอบแล้ว ปลดโคออกให้กินน้ำ ถั่ว งา และข้าวเปลือก ถ้ากินสิ่งใดก็จะทำนายภาวะของพืชผลในปีนั้น
สมัยรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรสถานที่จะประกอบพิธีในตอนแรก ๆ จึงมิได้ตายตัวแล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ในรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าพิธีนี้เป็นพิธีไม่มีพิธีสงฆ์ร่วมอยู่ จึงทรงเพิ่มพิธีสงฆ์โดยจัดพิธีล่วงหน้าขึ้นเรียกว่าพระราชพิธีพืชมงคล โดยโปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่สนามหลวง ประกอบด้วยหอประดิษฐานพระพุทธรูปคันธาราช ตอนเย็นของพิธีพืชมงคลนั้น ได้เชิญพระพุทธรูปและเทวรูป ดังนี้ 1. พระพุทธรูปคันธารราชกะไหล่ทอง (สร้างในรัชกาลที่ 1) 1 องค์ 2.พระพุทธรูปคันธารราชยืนกะไหล่ทอง (สร้างในรัชกาลที่ 4) 1 องค์ 3.พระพุทธรูปคันธารราช พระชนมพรรษาเงิน 1 องค์ 4.พระพุทธรูปคันธารราชแบบจีน 1 องค์ 5.พระพุทธรูปปางมาร (สร้างในรัชกาลที่ 3) 1 องค์ 6.พระชัยประจำรัชกาล 1 องค์ 7.พระชัยเนาวโลหะ 1 องค์ 8.เทวรูป 6 องค์ บนแท่นเดียวกัน 1 รูป 9.รูปพระโค 1 รูป สำหรับพระพุทธรูปตั้งแต่ 1 ถึง 7 นั้น ได้จัดเป็นขบวนแห่ มีเครื่องสูงพร้อมอัญเชิญไปประดิษฐานบนโต๊ะทองใหญ่ในพลับพลา ข้างหน้าจัดโต๊ะสำหรับเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย งา เผือก มัน เมล็ดน้ำเต้า แตง แมงลัก ฯลฯ ส่วนเทวรูปและรูปพระโคนั้น จัดไว้บนพลับพลาที่ปลูกแยกไว้มุมกำแพงแก้วอีกแห่งหนึ่งต่างหาก เมื่อพระราชาคณะรวม 11 รูปมาถึง และเข้านั่งตามที่ และพระยาแรกนาเข้านั่งตามที่ โดยเข้านั่งต่อท้ายพระสงฆ์ ส่วนนางเทพีทั้ง 4 นาง เข้านั่งในม่านหลังพระพร้อมแล้ก็จุดเครื่องนักนมัสการและทรงศีลเสร็จ แล้วทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปและเทวรูป จากนั้นทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และทรงเจิมพระพุทธรูปและเทวรูปทุกองค์ ในขณะนั้น อารักษ์นุ่งขาวห่มขาวจะอ่านประกาศพระราชพิธี ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับการทำนาที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธประวัติ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและแขก จบแล้วอ่านประกาศเทวดา เกี่ยวกับประวัติอภินิหารของพระพุทธรูปคันธารราช เสร็จแล้วอ่านประกาศอุทิศพระราชกุศลแก่เทวดา และทรงอธิษฐานจบประกาศต่าง ๆ แล้ว พระราชทานน้ำสังข์และใบมะตูม และทรงเจิมหน้าเจิมมือให้พระยาแรกนาขวัญและนางเทพีทั้งสี่ สำหรับพระยาแรกนาขวัญได้รับพระราชทานธำรงค์มณฑปนพเก้าอีก 2 วง เพื่อสวมในเวลาแรกนา ต่อจากนั้นพราหมณ์จะเป็นผู้รดน้ำและให้ใบมะตูมบ้าง ขณะนั้นพระสงฆ์จะสวดชยันโต พิณพาทย์ประโคม กว่าจะเสร็จพิธีก็เกือบค่ำ รุ่งขึ้นมีการเลี้ยงพระชุดเดิมและแห่พระพุทธรูปกลับ เป็นจบพิธีพืชมงคล ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคันนั้น จะทำให้ตอนบ่ายของพิธีพืชมงคลนั่นเองเริ่มต้นด้วยการแห่งพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพิฆเณศและรูปพระพลเทพแบบไทย ทั้งหมดนี้เข้าขบวนเหมือนตอนแห่พระพุทธรูปที่กล่าวมาแล้ว เป็นแต่ว่าลดหย่อนความคึกคักลงไปบ้าง ขบวนออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อย (ท้องสนามหลวง) ในตอนค่ำวันนั้น พราหมณ์จะทำพิธีบวงสรวงพระเป็นเจ้า วันนี้เป็นเพียงการเตรียมเท่านั้น รุ่งขึ้นเป็นวันพิธีใหญ่จัดขบวน 500 คน สำหรับแห่พระยาแรกนา มีธงเครื่องสูง เครื่องยศ และอาวุธประดับขบวนประกอบ ตัวพระยาแรกนาแต่งตัวสวยเสื้อครุย เมื่อขบวนแห่ไปถึงโรงพิธี พระยาแรกนาจะเข้าไปสักการะเทวรูป และอธิษฐานเสี่ยงจับผ้าสามผืน (เป็นผ้าลายกว้างหกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบอย่างละผืนหากจับได้ผ้ากว้าง ก็ทายว่าน้ำในปีนั้นจะน้อย ถ้าจับได้ผืนกลางก็ว่าน้ำพอดี หากจับได้ผืนแคบทายว่าน้ำจะมาก เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง แล้วพราหมณ์จะมอบไถเทียมโค พร้อมด้วยปฏักด้ามหุ้มผ้าแดงให้พระยาแรกนาลงมือไถ โดยมีคนเดินเชิญพระเต้าบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ประพรมนำไปข้างหน้าและตามด้วยพระพลเทพ และพราหมณ์เป่าสังข์ 5 คนไถตามยาวก่อน 3 รอบ แล้วไถตามทางกว้างอีก 3 รอบ เสร็จแล้วนางเทพีทั้งสี่จะหาบกระเช้าทอง 2 กระเช้า กระเช้าเงิน 2 กระเช้า ซึ่งบรรจุข้าวพันธุ์ออกไปให้พระยาแรกนาหว่าน แล้วไถกลบอีก 1 รอบ เป็นอันจบการไถ กลับมายังโรงพิธี ปล่อยโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย 7 อย่าง มีข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำและหญ้า พระโคกินอะไรก็ทายสิ่งนั้นจะสมบูรณ์